ตกลง
022717600
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
สำนักงาน กสทช.
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์
ข้อมูลกิจการวิทยุ
กิจการวิทยุ
กิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2473 เมื่อมีการเปิด “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ” ที่วังพญาไท ซึ่งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย และต่อมาในปี 2484 ในยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” โดยที่กิจการวิทยุกระจายเสียงในช่วงเริ่มต้นนี้ ถูกใช้เพื่อเสนอข่าวและประกาศของทางราชการ รวมทั้งนำเสนอรายการปาฐกถาและสุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล แม้กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่างปี 2484-2488) สื่อวิทยุก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารและโฆษณาชวนเชื่อความคิดทางการเมืองของทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มเสรีไทย ซึ่งนําโดยนายปรีดี พนมยงค์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2492-2500) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งและได้เปลี่ยนโฉมวงการวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยในหลายมิติ เริ่มต้นจากการจัดตั้งบริษัทไทยโทรทัศน์ จํากัด ดำเนินการวิทยุเชิงธุรกิจในชื่อสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ซึ่งถือเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกที่จดทะเบียนในรูปบริษัท โดยมีกรมโฆษณาการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และยังเป็นสถานีแห่งแรกของประเทศที่ออกอากาศในระบบเอฟ.เอ็ม
ในปี 2493 รัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.บ.การโฆษณากระจายเสียง มีผลให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของเครื่องรับวิทยุโดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางราชการ รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้หน่วยราชการอื่นจัดตั้งสถานีวิทยุได้ ผลที่เกิดขึ้นคือหน่วยทหารได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด และเริ่มเปิดโอกาสให้เอกชนมารับช่วงผลิตรายการ เช่น รายการเพลง ละครวิทยุ ลิเก และรายการตอบปัญหา ส่งผลให้หลายสถานีได้รับความนิยมจากประชาชน นอกจากจากหน่วยงานทหารแล้ว ยังมีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มีการจัดตั้งสถานีวิทยุของตนเอง เช่น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย กรมตำรวจ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ
การจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงของหน่วยงานรัฐ ส่งผลให้รัฐสามารถใช้สื่อวิทยุเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารกับประชาชน โดยมีการขยายเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงไปทั่วประเทศ เช่นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ปี 2502-2506) มีการขยายเครือข่ายวิทยุกระจายเสียงในส่วนของกองทัพครอบคลุมทุกพื้นที่จนในปี2515 กองทัพบกมีสถานีวิทยุทั้งสิ้น 64 แห่ง และกรมประชาสัมพันธ์มีสถานีวิทยุทั้งสิ้น 21 แห่งทั่วประเทศ โดยที่เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ปรากฏในรายการวิทยุ คือเนื้อหาประเภทบันเทิงต่างๆ ขณะที่เนื้อหาประเภทข่าวสารและสาระถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด
ต่อมาในยุครัฐบาลของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มมีการปฏิรูประบบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งแรกเพื่อลดทอนอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายทหาร โดยมีการตั้งคณะกรรมการการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว.ในปี 2518และมีการออกกฎระเบียบการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สําหรับการควบคุมการขออนุญาตจัดตั้งสถานีและควบคุมเนื้อหารายการ ผ่านอนุกรรมการตรวจเซ็นเซอร์รายการ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและสังคมในรายการข่าวและบันเทิงเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างไรก็ดี หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 การดําเนินงานของ กบว. ก็ยิ่งเข้มงวดขึ้นโดยกําหนดให้เนื้อหาสาระของข่าวและรายการต่างๆ ต้องส่งเสริมความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงห้ามนําเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 จนเป็นที่มาของการเกิดการเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปสื่อ และเกิดมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้ “คลื่นความถี่” เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จนมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543” ที่กำหนดให้ดำเนินการจัดตั้งองค์กรอิสระ 2 องค์กร คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
ในช่วงสูญญากาศระหว่างที่รอการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อมากำกับดูแลกิจการกระจายเสียง (กสช.)ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540ได้เกิดการจัดตั้งและออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในรูปแบบวิทยุชุมชนมากมายทั่วประเทศ กอปรกับรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าวได้ส่งเสริมให้เกิดสถานีวิทยุชุมชนเพื่อเป็นกลไกในการสื่อสารภายในชุมชนกรมประชาสัมพันธ์เองเปิดโอกาสให้ประชาชนดำเนินการวิทยุชุมชนภายใต้โครงการจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน และอนุญาตให้มีโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที ประชาชนบางกลุ่มจึงเห็นโอกาสและช่องทางในการแสวงหารายได้ จนเกิดวิทยุชุมชนเพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 5,000 สถานี ส่งผลให้เกิดการรบกวนการใช้คลื่นความถี่กับสถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีอยู่เดิม ระบบโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุการบิน นอกจากนี้บางสถานีออกอากาศเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของชาติ รวมถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
ในระหว่างที่ยังไม่เกิดองค์กรกำกับดูแลด้านการกิจการกระจายเสียง หรือ กสช. ตามกฎหมาย แต่บทเฉพาะกาล มาตรา 78 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้กทช. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสช. เป็นการชั่วคราว กทช.จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน)ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทุกรายที่ดำเนินกิจการมาก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เข้าสู่ระบบการกำกับดูแล โดยเปิดให้ทุกรายเข้ามาแจ้งความประสงค์ขอเป็นผู้รับใบอนุญตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) โดยใบอนุญาตฯ ให้มีอายุหนึ่งปี นับตั้งแต่วันเริ่มทดลองออกอากาศ
ในปี 2550 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ผลจากบทบัญญัติดังกล่าวจึงได้มีการประกาศพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จนถึงปัจจุบัน
กิจการวิทยุ
สำหรับกำเนิดของ กสทช. กับกิจการวิทยุกระจายเสียง กล่าวในภาพรวมกิจการวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยถือได้ว่ามีสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มผู้ประกอบการ AM. และ FM. รายเดิมที่เกิดขึ้นก่อนมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล กับกลุ่มผู้ทดลองออกอากาศชั่วคราวซึ่งเกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 ซึ่งกลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มที่ กสทช. จำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแลเป็นการด่วนเพื่อบริหารผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้คลื่นความถี่ในลักษณะต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ ในช่วงของการใช้แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 กิจการวิทยุกระจายเสียงจึงมุ่งเน้นการนำกลุ่มผู้ทดลองออกอากาศชั่วคราวเข้าสู่ระบบกำกับดูแลภายใต้กรอบกฎหมายที่เป็นปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ กสทช. คือการออกหลักเกณฑ์และใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง
สำหรับแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 ในส่วนของกิจการวิทยุ มุ่งเน้นที่การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบกิจการให้เข้าสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเต็มรูปแบบ โดยให้สอดคล้องกับการคืนคลื่นความถี่วิทยุของหน่วยงานต่างๆ ในปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 กำหนดให้หน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่วิทยุทั้งหมด จะต้องคืนคลื่นความถี่ที่ถือครองให้กับกสทช. เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ในปี 2565 ทั้งนี้หน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่วิทยุ AM และ FM ในปัจจุบัน เป็นหน่วยงานของรัฐโดยมีทั้งหมด 27 หน่วยงาน รวมทั้งหมด 512 คลื่นความถี่ ซึ่งครอบคลุมถึงคลื่นสาธารณะและคลื่นธุรกิจ รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของกิจการวิทยุกระจายเสียงภายหลังจากนี้ จะเริ่มจากการเพิ่มการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการที่ถือใบอนุญาตทดลองให้ยกระดับมาตรฐานของวิทยุทดลองประกอบกิจการ เพื่อให้กลุ่มที่มีมาตรฐานดีแล้วสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตที่เต็มรูปแบบ โดย กสทช. จะมีการเตรียมความพร้อมในการพิจารณาให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ของกิจการวิทยุธุรกิจ แต่หากเป็นบริการวิทยุสาธารณะจะไม่เข้าข่ายประมูล นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาฐานข้อมูลการใช้คลื่นความถี่และความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศสำหรับกิจการกระจายเสียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตอีกด้วย
กำลังโหลดข้อมูล ...