ตกลง
022717600
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
สำนักงาน กสทช.
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์
ข้อมูลกิจการโทรทัศน์
กิจการโทรทัศน์ถือได้ว่าเป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อประชาชนไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในอดีตกิจการโทรทัศน์ไทยประกอบไปด้วยการส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (ฟรีทีวี) ในระบบ แอนะล็อก ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบหลักของประเทศ ส่วนการให้บริการโทรทัศน์ระบบเคเบิลและระบบดาวเทียมเกิดจากการที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นและเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินได้ชัดเจนในบางพื้นที่โดยการประกอบกิจการโทรทัศน์ดังกล่าวยังไม่ได้มีการกำกับดูแลในระบบใบอนุญาตดังเช่นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นับแต่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553ให้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่7 ตุลาคม 2554 กิจการโทรทัศน์จึงถูกกำกับดูแลโดย กสทช. ซึ่งในการกำกับดูแลบางเรื่อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการแทน แต่อย่างไรก็ตาม กสท. ก็ได้ถูกยกเลิกไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ กสทช. ให้สามารถรองรับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีโดย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้ กสทช. เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการในการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ
ที่ผ่านมา กสทช. ได้มีการวางรากฐานโครงสร้างกิจการโทรทัศน์ไทยรวมถึงได้ดำเนินการให้มีการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในด้านต่างๆ สอดรับกับแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนี้
โครงสร้างการประกอบกิจการกสทช. ได้กำหนดลักษณะและประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ใหม่ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและกรอบของกฎหมาย โดยอิงหลักสำคัญคือกำหนดตามกิจการที่เกิดขึ้นจริงในห่วงโซ่ของการประกอบกิจการและพิจารณาเทคโนโลยีเป็นรูปแบบหรือช่องทางในการส่งบริการไปสู่ประชาชน แบ่งเป็น 4รูปแบบ ได้แก่ การให้บริการ (ช่องรายการ) โครงข่าย สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการแบบประยุกต์ โดยเพื่อเป็นการนำผู้ประกอบกิจการฯ เข้าสู่ระบบใบอนุญาตของ กสทช. ที่ผ่านมาจึงได้มีการออกหลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ใช้เป็นเกณฑ์ในการยื่นขอรับใบอนุญาต
ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดิน (ฟรีทีวี) ในระบบดิจิตอล(ทีวีดิจิตอล) ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยคุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้น ปราศจากสัญญาณรบกวน และเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนด้วยจำนวนช่องรายการที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 6 ช่องในระบบแอนะล็อก โดย กสทช. ได้จัดทำแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลขึ้นในปี 2555และได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการทีวีดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติจำนวน 24 ช่อง แบ่งเป็นหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ช่อง หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ และหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง จำนวนหมวดหมู่ละ 7 ช่องขึ้นในปี 2556 และ เริ่มออกอากาศในปี 2557
โดยในปี 2560 ได้มีการขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอลครอบคลุมร้อยละ 95.1 ของจำนวนครัวเรือน ทั่วประเทศตามแผนการขยายโครงข่ายและได้มีการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ในปี 2562ได้มีการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700MHz จากทีวีดิจิตอลบางส่วนเพื่อนำไปจัดสรรให้กับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 ส่งผลให้ปัจจุบันทีวีดิจิตอลมีจำนวนคงเหลือทั้งหมด 19 ช่อง ประกอบด้วยช่องประเภทบริการสาธารณะจำนวน 4 ช่อง และประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติจำนวน 15 ช่อง
ทั้งนี้ เพื่อเป็น การรับประกันการเข้าถึง “ ฟรีทีวี ” หรือโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ที่ผู้ใช้บริการสามารถรับชมได้เป็นการทั่วไปดังกล่าวกสทช. จึงได้มีการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป(Must Carry) และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ โดยกำหนดให้ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินถือเป็นช่องฟรีทีวีซึ่งต้องออกอากาศในลำดับหมายเลขเดียวกันผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ทุกประเภท เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกทั่วถึง และเสมอภาค โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่จะเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กสทช. ยังได้มุ่งเน้น การกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานการแข่งขันเสรีเป็นธรรมตลอดจนส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและมีคุณภาพอย่างเท่าเทียม สร้างเครือข่ายภาคประชาชน ทั่วประเทศเพื่อเฝ้าระวังและมีมาตรการลงโทษสำหรับรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมายอีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ การคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านการออกหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้นรวมถึง มุ่งเน้นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ผ่านการส่งเสริมให้ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสเข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมผ่านการจัดทำคำบรรยายแทนเสียง เสียงบรรยายภาพ และการจัดทำต้นแบบบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีล่ามภาษามือเต็มจอ การส่งเสริมและสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อ ตลอดจน การพัฒนาคุณภาพบุคลากร ในกิจการโทรทัศน์ให้ประกอบวิชาชีพอย่างมีความรับผิดชอบ มีทักษะของการเป็นผู้ประกาศที่มีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาวิชาชีพอีกด้วย
กำลังโหลดข้อมูล ...